ค่าความยาก คือ อะไร
เครื่องมือที่เราสร้างขึ้นจะดีหรือไม่ดี มักจะต้องมีองค์ประกอบหนึ่งที่ขาดไปไม่ได้คือ ค่าความยากของข้อสอบ (Item Difficulty) เป็นคุณลักษณะประจำตัวของข้อสอบ โดยเฉพาะข้อสอบปรนัย แต่ละข้อว่า บ่งบอกถึงโอกาสที่กลุ่มตัวอย่างจะตอบข้อนั้นได้ถูก ดังนั้นจึงพิจารณาจาก จำนวนผู้ตอบข้อนั้นถูก ถ้ามีจำนวนมาก แสดงว่า ข้อสอบข้อนั้นง่าย (p สูง) ถ้าจำนวนผู้ตอบถูกข้อนั้นมีจำนวนน้อย แสดงว่า ข้อสอบข้อนั้นยาก (p ต่ำ) เช่น แบบทดสอบฉบับหนึ่ง นำไปทดสอบกับคน 50 คน พบว่า
- ข้อสอบข้อที่ 1 มีนักเรียนตอบถูก 45 คน ดัชนีความยากเท่ากับ 45/50 = 0.90
- ข้อสอบข้อที่ 2 มีนักเรียนตอบถูก 30 คน ดัชนีความยากเท่ากับ 30/50 = 0.60
- ข้อสอบข้อที่ 3 มีนักเรียนตอบถูก 25 คน ดัชนีความยากเท่ากับ 25/50 = 0.50
ดังนั้นดัชนีความยากหาได้จากสูตร
เมื่อ
- p เป็นดัชนีความยาก
- f เป็นจำนวนผู้ตอบถูก
- n เป็นจำนวนผู้เข้าสอบ
การหาค่าความยาก นิยมหาเฉพาะในการสอบแบบอิงกลุ่ม เพื่อทำการคัดเลือกข้อสอบที่มีความยากเหมาะสมกับกลุ่มผู้สอบ โดยความยากที่เหมาะสมคือ 0.20-0.80 เนื่องจากข้อสอบที่ยากเกินไป หรือง่ายเกินไป ไม่สามารถจำแนกผู้สอบได้
อำนาจจำแนก คือ อะไร
อำนาจจำแนก (Discrimination) หมายถึง คุณลักษณะของข้อสอบที่สามารถแยกปริมาณคุณลักษณะที่ต้องการวัดที่มีอยู่ในแต่ละบุคคลได้ เช่น ในแบบทดสอบ ข้อสอบที่มีอำนาจจำแนกคือ ข้อสอบที่สามารถแยกคนเก่งออกจากคนอ่อนได้ หมายความว่า คนเก่งทำได้ถูก และคนอ่อนทำผิด
ในบทความนี้เราจะมาหาอำนาจจำแนกแบ่งอิงกลุ่มกัน ด้วยเทคนิค 50% (แบ่งกลุ่มคนเก่งและอ่อนแบบครึ่งต่อครึ่ง) ดังนั้นเมื่อเรียงคะแนนสูงสุดไปต่ำสุดเราจะแบ่งครึ่งแรกเป็นกลุ่มสูง และครึ่งหลังเป็นกลุ่มต่ำ ดัชนีอำนาจจำแนก (r) หาได้จากสูตร
เมื่อ
- r คือ อำนาจจำแนกของข้อสอบ
- H คือ จำนวนคนในกลุ่มสูงที่ตอบถูก
- L จำนวนคนในกลุ่มต่ำที่ตอบถูก
- N คือ จำนวนคนทั้งหมด
หมายเหตุ : นอกจากเทคนิค 50% หากกลุ่มตัวอย่างมีจำนวนมาก ในปี ค.ศ.1939 Kelly ได้แสดงให้เห็นว่า หากกลุ่มตัวอย่างแจกแจงเป็นปกติแล้ว การนำคะแนนกลุ่มสูงและกลุ่มต่ำมาวิเคราะห์เพียง 27% ก็จะได้ค่าประมาณใกล้เคียงกับการนำมาวิเคราะห์ทั้งหมด แต่ถ้าหากข้อมูลไม่ได้แจกแจงปกติ Cureton ก็ได้แสดงให้เห็นว่า อาจต้องใช้กลุ่มสูงและต่ำกลุ่มละ 33.33% จึงสามารถประมาณค่าได้ใกล้เคียงกับค่าที่คำนวณได้จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด
ตัวอย่างการคำนวณค่าความยากและอำนาจจำแนก จาก Excel
เราจะใช้โปรแกรม Excel เพื่อคำนวณค่าความยากและอำนาจจำแนก โดยมีข้อมูลตัวอย่างต่อไปนี้ เป็นข้อมูลที่ตัวอย่าง โดยกำหนดให้ตอบถูกได้ 1 และตอบผิดได้ 0 (ข้อสอบปรนัย) ดาวน์โหลดไฟล์ Excel ตัวอย่างที่ผมใส่สูตรคำนวณไว้จากลิงค์ด้านล่างนี้ครับ
จากข้อมูลจะเห็นว่า มีจำนวนข้อสอบ 15 ข้อ และจำนวนผู้ตอบ 20 คน เราจะคำนวณค่าคะแนนรวมของแต่ละคน เพื่อนำมาแบ่งเป็นกลุ่มสูงและต่ำ โดยใช้ฟังก์ชันใน Excel คือ sum เพื่อหาผลรวมของคะแนน เพิ่มข้อมูลที่คอลัมภ์ Q แล้วพิมพ์สูตร =sum(B2:P2) กด Enter จากนั้นก็ลากเพื่อ copy สูตรลงไปด้านล่างให้ครบทุกคน จะได้ดังภาพ
เมื่อได้ครบแล้ว เราจะมาเรียงลำดับคะแนน จากสูงสุดไปต่ำสุด เพื่อแบ่งคนเป็น 2 กลุ่ม โดยไปที่ Data > Sort แล้วเลือกหัวชื่อหัวคอลัมภ์เป็น Total จากนั้นเลือก Largest to Smallest จากนั้นกด OK
จะได้ข้อมูลเรียงจากมากไปหาน้อยเรียบร้อยแล้ว คราวนี้ก็แบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่ม ครึ่งบนเป็นกลุ่มสูง 10 คน และครึ่งล่างเป็นกลุ่มต่ำ 10 คน ผมจะไฮไลท์ไว้แบบนี้ เพื่อให้เห็นชัดนะครับ
ต่อไปเราจะนับจำนวนคนที่ตอบถูกในกลุ่มสูง นั่นคือ sum เอาค่าคะแนนของกลุ่มสูงมาจะเท่ากับจำนวนคนที่ตอบถูกในกลุ่มสูงนั่นเองครับ โดยใช้ สูตร Sum เช่นเดิม
กลุ่มต่ำ L ก็ทำเช่นเดียวกัน และผมจะหา f (จำนวนคนที่ตอบถูกในข้อนั้น) จากผลรวมคนตอบถูกในกลุ่มสูงและต่ำนำมารวมกันครับจะได้ดังภาพ และหาค่าความยาก p (f/N) เมื่อ f คือจำนวนคนที่ตอบ และ n คือ จำนวนคนทั้งหมด 20 คน
หาค่า r จาก การนำเอา (H-L)/20 แล้วลากเพื่อ copy สูตรไปทางด้านขวาทั้งหมด
เกณฑ์ในการแปลความหมายของค่าความยากและอำนาจจำแนกมักจะนิยมใช้เกณฑ์ต่อไปนี้
ความยาก p | ความหมาย | อำนาจจำแนก r | ความหมาย |
0.80-1.00 | ง่ายมาก | 0.60-1.00 | ดีมาก |
0.6-0.79 | ค่อนข้างง่าย | 0.40-0.59 | ดี |
0.40-0.59 | ปานกลาง | 0.20-0.39 | พอใช้ |
0.20-0.39 | ค่อนข้างยาก | 0.10-0.19 | ค่อนข้างต่ำ ควรปรับปรุง |
0.00-0.19 | ยากมาก | 0.00-0.09 | ต่ำมาก ต้องปรับปรุง |
เราจะมาคัดข้อสอบ จากค่าความยาก 0.2-0.8 และเอาค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.20 ขึ้นไป แล้วเขียนสูตรใน Excel ดังนี้
นำเคอร์เซอร์วางที่ช่อง B27 แล้วเขียนสูตรดังนี้ =AND(B25<=0.8,B25>=0.2,B26>=0.2) ความหมายคือ คัดเอาเฉพาะค่า p ที่มากกว่าหรือเท่ากับ 0.2 แต่ไม่เกิน 0.8 และค่า r ที่มากกว่า 0.2 ขึ้นไป จากนั้นกด Enter จะได้ช่องแรกเป็น False หมายความว่าข้อนี้ไม่ผ่านการคัด ต้องปรับปรุงหรือไม่ก็ต้องตัดทิ้งไป แล้วลากสูตรเพื่อ copy ไปยังข้ออื่นๆจนครบ
จากนั้นก็เขียนสูตรแปลงค่า False ให้เป็นคำว่า “ใช้ไม่ได้” และแปลงคำว่า True ให้เป็นคำว่า “ใช้ได้” โดยเขียนสูตรดังนี้ =if(B27=False,”ใช้ไม่ได้”,”ใช้ได้”) จากนั้นก็ทำการลากเพื่อ copy สูตรเช่นเดิมครับจะได้ดังนี้
ต่อมาผมจะสลับคอลัมภ์กับแถวใหม่เพื่อจัดรูปแบบให้เป็นแนวตั้งแทน โดยทำการลากคลุมพื้นที่ทั้งหมด แล้วเลือก Copy จากนั้นไปวางใน sheet ใหม่ ดังภาพ (คุณสามารถเลือกข้อมูลทั้งหมดจากการกด Ctrl+A) จากนั้นเลือก Copy แล้วให้เปิด Sheet ใหม่ขึ้นมา แล้ววางแบบสลับแถวเป็นหลัก (ดังภาพ)
ใน sheet ใหม่ที่ได้ ผมไม่ต้องการแสดงค่าคะแนนของแต่ละคน ให้ทำการซ่อนคอลัมภ์จนเหลือดังภาพ
เมื่อปรับแต่งตารางและหาค่าเฉลี่ยเพิ่มอีกนิดหน่อยจะได้ดังภาพ
ทำการ copy ตารางนี้เพื่อไปวางใน Word แล้วใส่ตารางให้สวยงาม แปลผลให้เรียบร้อย จะได้ดังภาพ
ดาวน์โหลดไฟล์ Word ตัวอย่างตารางสรุปผลการวิเคราะห์
เอกสารอ้างอิง
กัลยา วานิชย์บัญชา. (2561). การใช้ SPSS for Windows ในการวิเคราะห์ข้อมูล. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์สามลดา
ไพศาล วรคำ. (2559). การวิจัยทางการศึกษา Education Research. มหาสารคาม: ตักสิลาการพิมพ์.
พงศ์มนัส บุศยประทีป. (2559). สถิติง่ายๆ ใช้ได้ทุกงาน. นนทบุรี: ธิงค์ บียอนด์ บุ๊คส์
บริการรับคำนวณค่าความยากจากโปรแกรม Excel หรือ SPSS รับปรึกษางาน สามารถไลน์มาสอบถามรายละเอียดก่อนได้ที่ @krujakkrapong
Discover more from KruJakkrapong 's Blog
Subscribe to get the latest posts sent to your email.