วันนี้ผมจะมาแนะนำวิธีการทำสื่อการสอนแบบหนึ่งที่จะช่วยทำให้ห้องเรียนของคุณดูมีสีสันขึ้นได้ โดยการประยุกต์ใช้ Google Sheet เพื่อทำ Pixel Art Activity โดยผมได้ลองนำไปใช้ในห้องเรียนแล้ว ก็รู้สึกได้เลยว่า เด็กๆ ให้ความสนใจกับเนื้อหาที่สอนมากขึ้นจริงๆ
Pixel Art Activity คืออะไร
กิจกรรมนี้ เป็นคล้ายเกมชนิดหนึ่ง มีโจทย์และคำตอบจำนวน 15 ข้อ ซึ่งโจทย์นั้นเราเลือกเรื่องอะไรก็ได้ที่เราสอน เช่นตัวอย่างนี้ ผมสอนเรื่อง การจัดหมู่ (Combinations) ผมก็เลยเอาหัวข้อเล็กๆ คือ สูตรของการจัดหมู่และสมบัติของมัน ทำโจทย์ขึ้นมา 15 ข้อ พร้อมคำตอบ
จากนั้นก็นำโจทย์ใส่เข้าไปในตาราง 3×5 พอดี A4 แล้วก็เว้นช่องว่างเอาไว้ให้เด็กๆ ได้ทดด้วยนะ ถ้าเป็นคณิตศาสตร์ โจทย์แต่ละข้อจะมีสีประจำข้อโดยสีไม่จำเป็นต้องมี 15 สีก็ได้ เพราะโจทย์บางข้ออาจจะมีสีซ้ำกัน เช่น ข้อ 1, 3, 5, 10 ให้เป็นสีแดง ข้อ 2, 8 ให้มีสีเหลือง แบบนี้เป็นต้น แต่ทุกข้อจะต้องมีสีประจำข้อ
แล้วคราวนี้มาทำตารางคำตอบ ซึ่งตารางคำตอบจะเป็นตารางขนาด 10×10 ซึ่งก็จะมี 100 ช่องนั่นเอง ตารางนี้จะมีคำตอบของโจทย์ทั้ง 15 ข้อเบื้องต้นนั้นอยู่ตรงกลางช่องแต่ละช่อง ถ้าเป็นตัวเลขก็จะดีมาก หรืออาจจะเป็นคำสั้นๆ ก็ได้ เช่น คำกริยา แบบนี้เป็นต้นนะ ลองเอาไปประยุกต์ดูกับวิชาอื่นๆ
จะเห็นว่า คำตอบทั้ง 15 นั้นก็จะวางๆ กันอยู่บนตารางขนาด 10×10 ซึ่งมี 100 ช่อง ทำให้คำตอบบางคำตอบจะซ้ำกันมากน้อยแล้วแต่เราจะออกแบบ
เราจะออกแบบวางคำตอบจากสีของแต่ละข้อที่มาจากด้านบน เพื่อทำให้เกิดเป็นภาพ pixel คือสี่เหลี่ยมวางติดๆกันตามชื่อเลยนะ
กติกาการเล่นก็ง่ายมาก ให้นักเรียนทำโจทย์ อาจจะแบ่งเป็นกลุ่มๆ เพื่อช่วยกันทำโจทย์แล้วจะได้คำตอบของโจทย์ข้อนั้น จากนั้นให้ระบายสีเต็มช่องสี่เหลี่ยมช่องคำตอบให้ตรงกับโจทย์ข้อทีระบุ (เพราะว่าโจทย์แต่ละข้อจะมีสีของตัวเอง)
ตัวอย่างเช่น โจทย์ข้อ 1 คำถาม 1+1=? คำตอบ คือ 2 โดยที่โจทย์ข้อนี้สีประจำโจทย์คือ สีแดง ฉะนั้นเราต้องไปดูว่ามีเลข 2 ในช่อง 10×10 นั้นกี่ที่แล้วระบายให้หมด
เมื่อระบายจนครบและเสร็จ สามารถนำภาพที่ปรากฎมาตรวจกับครูได้อย่างรวดเร็วว่าถูกต้องหรือไม่ โดยครูไม่จำเป็นต้องดูคำตอบแต่ละข้อ แต่ให้ดูสีหรือภาพที่ปรากฎว่าถูกต้องหรือไม่ นี่เป็นข้อดีที่สุดอีกข้อของเกมนี้ครับ
เริ่ม Pixel Art จากการทำโจทย์และคำตอบ 15 ข้อ
เรามาเริ่มจากการออกแบบโจทย์และคำตอบจำนวน 15 ข้อก่อนนะครับ ผมจะมีตัวอย่างให้ดูสักอันเป็นเรื่องสมบัติของ C(n,r) หรือการเลือกนั่นเอง ผมสร้างโจทย์และพิมพ์สมการบน canva จะสะดวกมาก และยังเก็บไว้ทำเทมเพลทต่อไปในเรื่องอื่นๆอีกด้วยครับ ผมก็เลยจะแชร์เทมเพลทนี้ให้ด้วยนะครับ
และผมก็ทำอีกหน้าเป็นเฉลยเก็บเอาไว้ด้วยครับ
สำหรับใครที่ต้องการเทมเพลทของผมใน canva สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่ครับ
หมายเหตุไว้นิดหนึ่งนะครับ
- โจทย์และคำตอบ 15 ข้อ แต่ละข้อจะต้องมีคำตอบแตกต่างกันทั้งหมด และถ้าจะให้การระบายสียากขึ้นหรือเกมสนุกขึ้น ควรมีคำตอบที่คล้ายๆ กัน เช่น ผมเลือกจะเอาคำตอบเพียงเลข 2 หลักเท่านั้น เป็นต้นครับ แต่ก็ไม่ได้ตายตัวนะเป็นเพียงข้อเสนอแนะเท่านั้นครับ
- จะเห็นว่า แต่ละข้อสีที่กำหนดให้โจทย์แต่ละข้อ อาจจะซ้ำกันบ้าง เช่นของผม จะมีโจทย์ข้อ 2, 4, 9, 13 ถูกกำหนดให้ใช้สี LIGHT BLUE ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเราว่าต้องการให้ข้อไหนมีสีซ้ำกันบ้าง โดยผมจะตั้งต้นที่ภาพ Pixel Art ว่าพื้นที่ไหนสีเยอะ ผมก็จะใช้หลายข้อ
ทำกระดานคำตอบของ Pixel Art
ต่อไปจะเป็นขั้นตอนการทำกระดานคำตอบนะครับ ผมจะออกแบบใน Google Sheet สาเหตุที่ผมออกแบบในนี้เพราะผมจะเขียนสูตรเพื่อทำให้ง่ายต่อการระบายสีด้วย conditional formatting กำหนดให้ google sheet มีระบายสีตามที่ผมต้องการ และผูกไปยังกระดานคำตอบของผมแบบอัตโนมัติด้วยครับ
โดยผมจะเริ่มจาก Pixel Art ที่ผมต้องการ ตอนนี้ผมต้องการแบบนี้ครับ (โดยเราต้องการรูปอะไรก็เลยมาได้เลยครับ สักอันค้นหาในอินเตอร์เน็ตหรือใช้จินตนาการเองก็ได้)
จะเห็นว่า Pixel Art ที่ผมต้องการ คือรูปดอกไม้ มีสีดังนี้
- ส้ม (ORANGE)
- เหลือง (YELLOW)
- ฟ้า (LIGHT BLUE)
- แดง (RED)
- ชมพู (PINK)
- ขาว (WHITE)
- เขียว (DARK GREEN)
- เขียวอ่อน (LIGHT GREEN)
Google Sheet ของผมจะมี 2 ชีต ชีตแรกคือ ชีต1 ผมจะสร้างเลขข้อ และ เฉลยไว้คนละคอลัมภ์ สามารถสำเนา google sheet ของผมได้จากที่นี่ครับ
อีกชีตหนึ่งถัดไป ผมจะสร้างตาราง Pixel ขึ้นมาสองตารางซึ่งผูกสูตรกันไว้โดยเราจะมาดูตารางล่างกันก่อนครับ ผมจะทำ conditional formatting ให้โจทย์แต่ละข้อจนครบ 15 ข้อ และสีที่กำหนดไว้ ดังนี้
- ส้ม (ORANGE) ข้อ 11
- เหลือง (YELLOW) ข้อ 8
- ฟ้า (LIGHT BLUE) ข้อ 2, 4, 9, 13
- แดง (RED) ข้อ 5, 10, 12
- ชมพู (PINK) ข้อ 7
- ขาว (WHITE) ข้อ 3, 6
- เขียว (GREEN) ข้อ 14, 15
- เขียวอ่อน (LIGHT GREEN) ข้อ 1
จากภาพด้านล่าง ผมประยุกต์มาจาก Pixel Art ชุดแรกที่ผมทำนะครับ คราวนี้ผมก็จะมาเปลี่ยนสีให้แต่ละข้อ ไปที่ข้อ 1 ด้านขวามือ หากยังไม่เห็นแถบด้านขวา ให้คลิกที่ รูปแบบ > การจัดรูปแบบตามเงื่อนไข จากนั้นก็เริ่มคลิกที่อันแรก คือ เลข 1 (โจทย์ข้อ 1)
กำหนดสีตามที่เราออกแบบไว้ คือ ข้อ 1 จะเป็นสีเขียวอ่อน ช่วงที่กำหนดคือ ในตารางนั่นเองครับ เลือกเงื่อนไขไปที่ ข้อความคือ จากนั้นก็เลือกสีที่กำหนดได้เลยครับ ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนครบ 15 ข้อนะครับ ซึ่งสูตรผมเขียนไว้ให้แล้ว แค่คลิกเลือกเปลี่ยนสีก็พอครับ
เมื่อเสร็จแล้วจะได้ดังนี้
ต่อไปเราจะมาระบายสีตามภาพที่เราต้องการ โดยถ้าเป็นสีเดียวกันสามารถเลือกใส่เป็นข้อไหนก็ได้ในช่องให้คละๆ กันไป เช่น สีฟ้าของผม มีข้อ 2, 4, 9, 13 ในตารางก็ให้ใส่คละๆ กันไปได้เลยครับ เป็นเลข 2, 4, 9, 13 เพื่อให้เกิดพื้นที่สีฟ้านั่นเองครับ
เมื่อกรอกตัวเลขเสร็จแล้วจะได้แบบนี้ครับ เป็นเฉลยเอาไว้นะอันนี้เราไม่ได้ให้เด็กดู
จากนั้นเลือกชีตขึ้นมาดูตาราง 10×10 ด้านบนครับ จะเป็นตารางที่จะให้เด็กๆ ระบายสีลงตรงนี้ โดย export
ทำการ export หน้านี้ออกเป็นเป็นภาพหรือ pdf เพื่อประกอบร่างกับคำถามที่สร้างใน canva ครับ ผมทำการส่งออกเป็น pdf แล้วนำไปรวมกันกับโจทย์ของเรา แล้วส่งให้นักเรียนทำแบบฝึกเป็นกลุ่มๆ หรือว่าเดี่ยวก็ได้ สำหรับไฟล์ที่ผมส่งให้เด็กจะเป็นแบบนี้ครับ
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจ อยากจะทำกิจกรรมให้เด็กๆ ไม่ว่าจะอยู่ในชั้นเรียน หรือนอกห้องเรียน และสามารถนำไปประยุกต์กับวิชาอื่นๆ ได้อีกด้วยครับ
Discover more from KruJakkrapong 's Blog
Subscribe to get the latest posts sent to your email.