จากบทความเก่าเล่าไปแล้วครั้งหนึ่ง มีคนไลน์ เข้ามาถามวิธีการแบบละเอียดครับ สำหรับการอัพฐานข้อมูลรายชื่อนักเรียนเข้าไปในแอป Teachekit เพื่อเอาไว้เก็บคะแนน ที่เป็นนักเรียนของเรา วันนี้ก็เลยถือโอกาสมาอัพเดทข้อมูลเพิ่มเติม และสอนวิธีใช้แบบละเอียดเลยครับ
แอป Teacherkit คืออะไร
ดูจากชื่อ คงเดาได้ไม่ยากว่าเป็นแอปสำหรับครูแน่ๆ แล้วแอปนี้ทำอะไรได้บ้าง ต้องออกตัวก่อนว่า ผมใช้เวอร์ชันฟรี ดังนั้นเวอร์ชันนี้อาจจะไม่ครอบคลุมส่วนประกอบทั้งหมด แต่ก็เพียงพอที่จะเอาไว้ใช้เก็บคะแนนได้ครับ
ผมใช้แอปนี้สำหรับเก็บคะแนน เก็บการเข้าเรียน (ให้คะแนนได้ เช่น ให้ 1=เข้าเรียน ให้ 0=ขาดเรียน) เก็บคะแนนสอบย่อย กลางภาค ปลายภาค คะแนนการส่งงาน ถามว่าทำไมต้องเก็บในแอปนี้ เหตุผลหลักๆ คือ ผมขี้เกียจถือสมุดบันทึกคะแนนครับ บางครั้งก็ลืมถือไปด้วย และปัญหาใหญ่คือ ตอนจบภาคเรียนสมุดบันทึกคะแนนหายกลายเป็นเรื่องใหญ่
เวลาเราเข้าห้องเรียน แค่เอาอุปกรณ์การสอนพร้อมมือถือที่ชาร์ตแบตแล้วไปด้วย เราก็สามารถบอกเด็กว่า คะแนนได้เท่าไรแล้ว ค้างงานอะไรบ้าง หรือเจอกันโดยบังเอิญแล้วเด็กส่งงาน (อันนี้ไม่ควรทำเท่าไรนะ 555+) ผมก็สามารถบันทึกคะแนนได้ทุกที่ คะแนนเด็กผมจึงไม่หายครับ
ผมชอบโปรแกรมนี้สุดๆ คือ เวลาที่เราจะรวมคะแนนทั้งหมด เพื่อเอาไปตัดเกรด หรือกรอกใน SGS มันง่ายเพียงแค่เรา export ออกเป็นไฟล์ excel แล้วก็ใช้ excel ช่วยบวกคะแนน จะรวมเป็นกี่ส่วนหรือจะให้น้ำหนักคะแนนในส่วนไหน ดัดแปลงเพิ่มเติมก็ง่ายเพราะข้อมูลเราเข้าไปอยู่ในไฟล์ excel แล้วไม่ต้องกรอกใหม่ให้ปวดหัว
เริ่มใช้ Teacherkit กันเถอะ
เริ่มจากการติดตั้งบนมือถือสามารถใช้ได้ทั้ง ios หรือ Android นะครับ ขั้นตอนการติดตั้งก็เหมือนแอป ทั่วๆ ไป กดติดตั้งแล้วก็เป็นอันเสร็จครับ อาจจะมีการลงทะเบียนด้วยอีเมลของเรา และผมแนะนำว่าต้องมีบัญชี Dropbox จะดีมากๆครับ ในบทความนี้ผมจะอัพฐานข้อมูลไปบน dropbox ครับ ส่วนถ้าใครไม่มี อาจจะใช้ icloud ก็ทำได้เช่นกันครับ
เตรียมไฟล์เพื่อนำเข้าฐานข้อมูลนักเรียน ใน TeacherKit
อันดับแรกต้องเตรียมไฟล์ก่อนครับ เป็นไฟล์ csv ผมเตรียมไฟล์ตัวอย่างเอาไว้ให้แล้วเรียบร้อยครับ สามารถดาวน์โหลดได้จากที่นี่
ไฟล์ตัวอย่าง นำเข้าชื่อนักเรียน
เมื่อดาวน์โหลดมาแล้วเปิดด้วย excel จะเห็นข้อมูลเหมือนภาพด้านล่าง ถ้าอ่านไม่ออกก็ไม่ต้องตกใจครับ เพราะมาตรฐานของไฟล์ csv เมื่อเปิดขึ้นมามันไม่เป็น UTF-8 โดยค่า default ทำให้ภาษาไทยเป็นภาษาต่างดาวอย่างที่เห็น แต่ปัญหานี้มีวิธีแก้ไขแล้วครับ เราสามารถแก้ไขข้อมูลเป็นชื่อภาษาไทยทับลงไปได้เลยครับ
ข้อความในคอลัมภ์แรก ตรง FirstName ผมประยุกต์ให้เป็นเลขที่ NO.01 สำหรับเลขที่ 1 นะครับ ที่มี 0 นำหน้า 1 เพราะต้องการให้มันเรียงตามลำดับเลขที่อย่างถูกต้องในแอป ถ้าใครไม่ต้องการใส่เลขที่ แต่จะใส่เป็นชื่อ นามสกุลก็ได้เช่นกัน (ไม่แนะนำครับ) แต่ตอนเรียงคะแนนท่านอาจจะสับสนได้ เพราะฉะนั้นแนะนำให้ทำตรงกันกับไฟล์ ปพ. หรือ SGS จะดีที่สุด โดยเรียงเลขที่ให้ตรงกัน ส่วนนามสกุล ไม่จำเป็นก็ได้ ให้เอาเลขที่กับชื่อก็เพียงพอที่จะระบุตัวคนเวลากรอกคะแนนแล้วครับ
ตอนนี้ผมเปลี่ยนชื่อใส่ในช่อง LastName เรียบร้อย ที่เห็นผมใส่เป็นชื่อเล่น เพราะเป็นเด็กในที่ปรึกษาพอดี จะได้เรียกง่ายๆ และรู้จักเด็กทุกคนในห้องไปพร้อมกันเลย เนื่องจากนักเรียนมี 30 คน ผมจึงต้องตัดรายชื่อส่วนเกินออกไปให้เหลือเพียง 30 คนเท่านั้นครับ
ทำการ save as และตั้งชื่อไฟล์แล้ว ขั้นตอนถัดไปสำคัญมาก! ถ้าจะใส่เป็นชื่อภาษาไทย คุณต้อง save โดยบันทึกเป็นชนิด CSV UTF-8 (คั่นด้วยจุลภาค) ถ้าไม่ทำตามนี้ภาษาไทยในแอปจะเป็นภาษาต่างดาวทันที
นำเข้าฐานข้อมูล TeacherKit ผ่าน Dropbox
ต่อไปผมจะอัพไฟล์รายชื่อ (นามสกุลไฟล์เป็น csv) เข้าไปใน dropbox โดยลงชื่อเข้าใช้ dropbox ผ่านลิงค์นี้ได้เลยครับ
เมื่อเข้าไปใน dropbox แล้วสร้างโฟลเดอร์ชื่อ TeacherkKit คลิกเข้าไปแล้วสร้างโฟลเดอร์ในนั้นชื่อ Shared จากนั้นเอาไฟล์ csv ที่ได้ใส่เข้าไปในโฟลเดอร์นี้ครับ
ไปที่มือถือของเราครับ เมื่อเปิดแอป TeacherKit ขึ้นมาถ้าต้องการเพิ่มห้องเรียนให้ไปด้านบนขวาจะมีเครื่องหมายบวก ( + ) กดตรงนั้นได้เลยครับ แล้วกด New Class เพื่อสร้างห้องเรียนใหม่
เมื่อได้ห้องเรียนแล้ว เราจะเพิ่มรายชื่อนักเรียนโดยคลิกเข้าไปที่ ห้องเรียนห้องนั้นก่อน แล้วคลิก เครื่องหมายบวก ( + ) บนขวา เลือก Import > Dropbox > เลือกไฟล์ที่อัพโหลดเข้า dropbox
เมื่ออัพโหลดเสร็จจะได้ดังภาพ จะเห็นว่า ภาษาไทยยังอ่านได้ ไม่เป็นภาษาต่างดาว ถ้าใครอัพโหลดแล้วเป็นภาษาต่างดาว ต้องลบห้องนี้ออกก่อน แล้ว save as ใหม่เป็น CSV UTF-8 ก่อนค่อยอัพเข้าไปใน dropbox และทำการดึงข้อมูลใหม่อีกที
เมื่อเสร็จแล้ว ตรงรูปภาพเราสามารถใส่ภาพนักเรียนได้ วิธีของผมคือจะทำทีละคน ในคาบแรกที่ทำความรู้จักกับนักเรียน ผมจะใส่รายชื่อเป็นห้องๆ ไว้แบบนี้ก่อน แล้วค่อยไปถ่ายภาพทีละคน โดยแตะเข้าไปที่ รูปของแต่ละคน > Edit > แตะที่ภาพคน > Camera > ถ่ายรูป (หรือจะให้นักเรียนช่วยถ่ายก็ไม่ยาก)
ข้อแนะนำ : เวลาถ่ายรูปให้เอากล้องเข้าไปใกล้ๆ ให้เห็นหน้าชัดเจน
ห้องนี้เป็นอีกห้องหนึ่งที่ผมใส่ชื่อจริงนักเรียน และถ่ายรูปครบทุกคนแล้วครับ
ถ้าเรามีภาพนักเรียนแต่ละคน จะทำให้ตรวจสอบนักเรียนได้ง่ายด้วยเวลาเช็คชื่อ และเวลาตัดเกรดหรือให้คะแนนจิตพิสัย เราสามารถดูนักเรียนเป็นรายคน หรือนำไปสู่การช่วยเหลือด้านการเรียนเป็นรายคนได้อีกด้วยครับ
สร้างช่องคะแนน เพื่อกรอกคะแนนใน TeacherKit
หลังจากที่สร้างห้องเสร็จ ถ่ายภาพนักเรียนแต่ละคนเสร็จแล้ว ขั้นตอนถัดไป คือการกรอกคะแนนในโปรแกรม อันดับแรกให้คลิกเข้าไปที่ห้องที่ต้องการสร้างคะแนน > จากนั้นคลิกที่ A+ > คลิกรูปปากกา > New Gradeable Item > ตั้งชื่อ Title > กรอกคะแนนสูงสุด > กด Done
จะตั้งชื่อภาษาไทย หรือ ภาษาอังกฤษก็ได้ครับ เพราะตอน export เราจะแก้ไขไฟล์เพื่อให้อ่านภาษาไทยได้ครับ และตรง Max Grade คือ คะแนนสูงสุดที่จะให้ในครั้งนั้นครับ ช่อง weight คือค่าน้ำหนักของคะแนน ปกติผมไม่กรอกครับ ผมจะไป weight ที่ excel เอง เพราะผมยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะเก็บคะแนนกี่ครั้ง ถ้าใครทราบแล้วก็สามารถให้ค่าน้ำหนักคะแนนได้ครับ
เมื่อย้อนกลับมาที่ห้องเรียนนั้นแล้ว เราจะเห็นรายชื่อเรียงจากบนลงล่างตามเลขที่ เราจะเห็นรายชื่อหัวข้อคะแนนที่สร้างไว้ สามารถเลื่อนซ้าย-ขวา เพื่อไปหัวข้อคะแนนอื่นๆ ได้ จากนั้นคลิกที่ชื่อคน > กรอกคะแนน > เลื่อนลูกศรลงเพื่อกรอกคะแนนคนอื่นๆ เรียงตามเลขที่ > ครบแล้ว กด Done
ข้อแนะนำ: เวลากรอกคะแนน และสร้างหัวข้อคะแนนไว้หลายๆ อัน ก่อนกรอกคะแนนต้องดูดีๆ ก่อนว่าตรงกับหัวข้อคะแนนเราหรือยัง เพราะบางครั้งอาจกรอกผิดหัวข้อ
Export คะแนน จาก TeacherKit
เมื่อกรอกคะแนนหลายๆ หัวข้อคะแนนแล้ว หากต้องการนำคะแนนออกมาใช้งาน ไปที่ห้องเรรียน จากนั้นคลิกค้างไว้ จนปรากฎหน้าจอเหมือนในภาพ จากนั้นก็คลิกที่ลูกศร ชี้ขึ้น > export grade > เลือกว่าจะส่งออกทางไหน (ปกติผมส่งออกทางอีเมล) ใครสะดวก dropbox ก็ทำได้เช่นกันครับ
เมื่อได้ไฟล์มาแล้ว ถ้าดับเบิลคลิกเปิดไฟล์เลยทันทีจะอ่านภาษาไทยไม่ได้ครับ วิธีแก้ คือ ให้เปิดโปรแกรมด้วยไฟล์เปล่า ขึ้นมาก่อน จากนั้นให้ไปที่ ข้อมูล > จากข้อความ/CSV > เลือกไฟล์ที่ดาวน์โหลดมา > นำเข้า
ที่มาของแฟ้ม ให้หาคำว่า UTF-8 > คลิก โหลด
เมื่อได้ไฟล์ excel ที่เป็นคะแนนออกมาแล้วก็นำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ครับ
สรุป : โปรแกรม TeacherKit เหมาะกับครูยุคใหม่ ต้องการเก็บคะแนนไว้บนมือถือ และนำคะแนนออกมาจัดการอย่างง่ายดาย เราสามารถใช้เวอร์ชันฟรีดูก่อนได้ หากต้องการออฟชันที่สูงขึ้นไป เช่น การติดตามพฤติกรรมของนักเรียน การตัดเกรดบนแอป เราต้องเสียเงินซื้อโปรแกรม แต่ตอนนี้ผมก็ยังใช้เวอร์ชันฟรีมา 2 ปีแล้ว คิดว่าเพียงพอสำหรับการใช้งานครับ
Discover more from KruJakkrapong 's Blog
Subscribe to get the latest posts sent to your email.