RTAP คืออะไร
เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้ข้อมูลจากกลุ่มไลน์ของโรงเรียนผมเอง ท่านผู้อำนวยการได้ส่งข้อมูลเข้ากลุ่มไลน์ แนะนำโปรแกรมวิเคราะห์คุณภาพของเครื่องมือชื่อว่า RTAP ผมจึงสนใจคลิกเข้าไปดู พบว่า โอ้โห้ เป็นโปรแกรมที่ดีมากๆ วิเคราะห์ให้แล้วยังเขียนผลให้อีกด้วย อะไรมันจะง่ายกว่านี้ไม่มีอีกแล้วสำหรับเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลในปัจจุบัน
ใครเป็นคนสร้าง RTAP
RTAP (Research Tools Analysis Program) ถูกสร้างขึ้นจากหน่วยงาน ศูนย์บริการวิชาการและเผยแพร่นวัตกรรมทางการศึกษา ร่วมกับภาควิชาวิจัยและพัฒนาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แน่นอนว่า เกิดจากหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับวิจัยโดยตรงขนาดนี้ ความน่าเชื่อถือจึงมาเป็นอันดับหนึ่งอย่างแน่นอน ที่สำคัญอีกประการคือ เป็นเครื่องมือที่ใช้งานออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องติดตั้งลงเครื่องแต่อย่างใด เพียงแค่มีอินเตอร์เน็ตก็สามารถใช้งานได้เลย
ที่ผมชอบโปรแกรมนี้คือ มันแปลผลให้อย่างสวยงาม เราแทบจะไม่ต้องทำอะไรอีกแล้ว ทำหน้าที่เก็บข้อมูลมา แล้วนำมาวิเคราะห์ไม่กี่นาทีก็ได้ผลที่น่าเชื่อถือได้อย่างแน่นอน
โปรแกรม RTAP ทำอะไรได้บ้าง?
โปรแกรมนี้ทำหน้าที่วิเคราะห์คุณภาพของเครื่องมือ ได้แก่
- ค่า IOC ที่เก็บข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญสามารถใส่ข้อมูลผู้เชี่ยวชาญกี่คนก็ได้ ปกติแล้วนิยม 3 คน หรือ 5 คนนะครับ และจำนวนข้อคำถามได้สูงสุด 1000 ข้อเลยทีเดียว
- วิเคราะห์คุณภาพของข้อสอบปรนัย (Multiple Choice) ได้ทั้งค่าอำนาจจำแนก และค่าความเชื่อมั่น แค่กรอกจำนวนข้อสอบ จำนวนตัวเลือกของข้อสอบ และจำนวนผู้ทดสอบ จะปรากฏตารางให้กรอกข้อมูล แล้วก็กดๆ ดูอำนาจจำแนกและค่าความเชื่อมั่น KR-20 ได้มาอย่างง่ายดายเลย
- วิเคราะห์คุณภาพของข้อสอบอัตนัย (Essay) ได้ทั้งค่าอำนาจจำแนก และค่าความเชื่อมั่นแอลฟาครอนบาค เพียงแค่กรอกจำนวนข้อ และจำนวนผู้ตอบ กรอกค่าคะแนนของแต่ละข้อให้เรียบร้อย หรือจะใช้วิธีก๊อปปี้จาก Excel มาใส่ก็ยังได้สะดวกมากจริงๆ
- วิเคราะห์คุณภาพของแบบสอบถาม เช่น แบบสอบถามความพึงพอใจ พวก Rating Scale 1-3 หรือ 1-5 นำมาวิเคราะห์คุณภาพหาอำนาจจำแนกโดยวิธี Item Total Correlation (มีในโปรแกรม SPSS ด้วย) และสามารถหาค่าความเชื่อมั่นแอลฟาครอนบาค (Cronbach’s alpha coefficient) ออกมาให้อีกด้วย ดีจริงๆ
นับว่าเมนูครบครันกระบวนการเลยทีเดียว การวิจัยทางการศึกษาหรือการวิจัยทั่วๆไปทั้งหลายก็อาศัยเครื่องมือเหล่านี้กันทั้งนั้นครับ
RTAP ใช้งานอย่างไร
จะเริ่มใช้งาน แต่ถ้าให้ผมอธิบายวิธีการใช้งานของทุกๆ เครื่องมือ คงจะเป็นบทความที่ยาวเกินไป ดังนั้นผมจะขอยกตัวอย่างสัก 1 เมนูให้ดู และเปรียบเทียบผลการวิเคราะห์เทียบกับ SPSS ให้ดูจะๆ กันไปเลยว่าวิเคราะห์ให้ตรงกันมากน้อยแค่ไหนนะครับ ผมจะเลือกเอา แบบสอบถาม จำนวน 12 ข้อ และคนตอบแบบสอบถาม 30 คน เป็นแบบสอบถาม Rating Scale 1-3 ดังไฟล์ตัวอย่างนี้
ขั้นตอนแรกเมื่อเริ่มใช้โปรแกรม RTAP ให้เปิดเบราเซอร์อะไรก็ได้แล้วคลิกไปที่ https://edurtap.msu.ac.th/rtapapp/
ถ้าผมต้องการวิเคราะห์แบบสอบถาม ผมจะคลิกเลือกเมนูที่ 4 ดังภาพ
ใส่ข้อมูลของแบบสอบถาม ตอนนี้ผมใส่จำนวนข้อเป็น 12 และคนตอบแบบสอบถาม 30 คน จากนั้นคลิก บันทึก
ผมกลับไปที่ไฟล์ Excel ลากครอบคะแนนทั้งหมด กด Ctrl+C แล้วกลับมาที่โปรแกรม คลิกที่ช่องแรกบนซ้ายมือสุด แล้วกด Ctrl+V ลงไปครับ หรือใครจะใช้วิธี import จาก CSV หรือ Excel ก็ได้สะดวกดีมากครับ
กดที่วิเคราะห์ค่าอำนาจจำแนกดังภาพ
ชั่วพริบตาเดียว ก็ได้ค่าอำนาจจำแนกแล้ว แถมยังรู้ว่าข้อไหนผ่าน หรือไม่ผ่าน มันก็จะตัดออกโดยเครื่องหมายถูกขวามือสุด สามารถปรับได้อีกด้วย ดีจริงๆ โปรแกรมนี้
เลื่อนลงด้านล่าง จะเห็นว่า มีข้อความสรุปตารางให้อีกด้วย ว่าแบบสอบถามมีอำนาจจำแนกอยู่ระหว่างเท่าไร และผ่านเกณฑ์กี่ข้อ ข้อที่ผ่านเกณฑ์มีอำนาจจำแนกระหว่างเท่าไร บอกหมดเลยแบบนี้ดีมากๆ เลยครับ
เมื่อพิจารณาแล้วว่าเอาข้อที่มีเครื่องหมายถูกเท่านั้น ที่ผ่านเกณฑ์ค่าอำนาจจำแนก สุดท้ายเราจะหาค่าแอลฟาครอนบาค ให้คลิกที่ปุ่ม วิเคราะห์ค่าความเชื่อมั่น (Cronbach’s alpha coefficient) ได้เลยครับ
จะเหลือข้อที่ผ่านเกณฑ์อำนาจจำแนก แล้วก็มีการคำนวณค่าแอลฟาครอนบาคให้ด้วย ดังภาพจะเห็นว่าแอลฟาเท่ากับ 0.927
ที่เจ๋งสุดๆ ของโปรแกรมนี้คือ มีปุ่มการ Export ออกเป็นไฟล์ Word ให้เรียบร้อยเลยครับ แถมยังสรุปท้ายตารางให้เรียบร้อยด้วยครับ ให้คลิกที่ปุ่ม Export สรุปผลการวิเคราะห์ (*.docx)
เปิด Word ขึ้นมาก็จะเห็นตารางสรุปเหมือนในโปรแกรม 2 ตารางคือค่าอำนาจจำแนกและตารางสรุปผลค่าแอลฟาครอนบาค และมีสรุปท้ายตารางให้ด้วย ดีจริงๆ เลยโปรแกรมนี้ สุดยอดมากๆ
การคำนวณค่าอื่นๆ เช่นค่า IOC ค่า KR-20 และอำนาจจำแนกของข้อสอบแบบปรนัยและอัตนัย ก็สามารถทำง่ายๆ ได้ทำนองเดียวกันนะครับ ดังนั้นนี่จึงเป็นเครื่องมือช่วยครูทำวิจัยในชั้นเรียน หรือเครื่องมือสำหรับวิเคราะห์คุณภาพของข้อสอบหรือแบบสอบถามได้อย่างง่ายดาย อำนวยความสะดวกได้ครบครันมากๆ ที่สำคัญคือไม่จำเป็นต้องติดตั้งโปรแกรมเลย สุดท้ายต้องขอบคุณหน่วยงาน ศูนย์บริการวิชาการและเผยแพร่นวัตกรรมทางการศึกษา และภาควิชาวิจัยและพัฒนาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่คิดค้นโปรแกรมนี้ขึ้นมาช่วยให้การหาคุณภาพของเครื่องมือได้ง่ายขึ้นมาก
มาดูผลเปรียบเทียบระหว่างโปรแกรม RTAP และโปรแกรม SPSS กันครับ
จะเห็นว่าค่าที่ได้เทียบกันข้อต่อข้อ คือ เท่ากันเป๊ะๆเลยครับ ดังนั้นสบายใจได้ว่า RTAP ให้ผลที่น่าเชื่อถือได้แถมยังวิเคราะห์ให้อีกต่างหากว่าข้อไหนใช้ได้หรือไม่ได้ ดีกว่า SPSS เห็นๆ เพราะเราต้องเอาผลมาวิเคราะห์ต่ออีก
ปล. เมื่อเราใช้โปรแกรมนี้แล้ว ในบรรณานุกรมของเอกสารเราจะต้องอ้างอิงที่มาของโปรแกรมดังนี้ครับ
ศูนย์บริการวิชาการและเผยแพร่นวัตกรรมทางการศึกษา และภาควิชาวิจัยและพัฒนาการศึกษา (2565). โปรแกรมวิเคราะห์คุณภาพเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย (RESEARCH TOOLS ANALYSIS PROGRAM: RTAP) มหาสารคาม: คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สืบค้นจาก HTTPS://EDURTAP.MSU.AC.TH/RTAPAPP/
Discover more from KruJakkrapong 's Blog
Subscribe to get the latest posts sent to your email.