การไปอบรมครั้งนี้ ด้วยระยะเวลา 4 วัน ทำให้เปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ ในการจัดการศึกษาเพิ่มมากขึ้น การได้ไปพบเพื่อนครูจากที่อื่นๆ คงเป็นเพราะบุญผลา หรือ บุพเพสันนิวาส เพราะคนไป 270 คน มีทั้งหมด 6 ห้อง เราก็ต้องไปนั่งล้อมวงกันเพื่อทำกิจกรรมกัน 9 คน ตลอดทั้ง 4 วันเลยทีเดียว
ผมเลขที่ 14 ห้อง 2 ของการอบรมในครั้งนี้ ในห้อง 45 คน ทุกคนต่างมาจากต่างถิ่นกัน คละเคล้ากันไป หลากหลายรูปแบบ มีทุกวิชาเลยทีเดียว ทำให้ผมได้มุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับวิชาอื่นๆ ไปด้วย
ผมนั่งข้างห้อง สามารถมองเห็นทุกๆ ที่กำลังนั่งอยู่ทั้งด้านหน้า และหลัง วันแรกสิ่งที่ประทับใจคือ พิธีกร อธิบายได้อย่างชัดเจน จนประธานในพิธีซึ่งเป็นคณบดี คณะครุศาสตร์ มรภ.มหาสารคาม ชมเลยทีเดียว
หลังจากพิธีเปิดแล้ว เราก็เข้าเรียนวิชาแรกกัน
5 มิถุนายน 2561
หัวข้อวันนี้คือ การวางแผนกลยุทธ์เพื่อพัฒนาผู้เรียน คนสอนคือ ดร.ปิยะธิดา ปัญญญา เป็นอาจารย์ใน มรภ.นั่นเองครับ อาจารย์มีเทคนิคพิเศษในการสอน คือ การให้คะแนนมากๆ เช่น ออกมารายงานกลุ่มแรก ให้ 2 หมื่น กลุ่มถัดๆไป กลุ่มละ 1 หมื่น แล้วให้จดไว้ การตอบข้อซักถามให้ครั้งละ 5 พัน เป็นต้น ทำให้บรรยากาศในการเรียนเป็นไปอย่างคึกคักเลย นักเรียนก็อยากตอบ เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่สร้างแรงจูงใจได้ผลเลยทีเดียว แม้ว่าจะใช้กับคุณครูก็ตามที
วันนี้ ที่ประทับใจมากๆ คือการได้ทบทวนพื้นฐานเรื่องวิจัยและสถิติ ที่จะใช้ในการทำ คศ.3 สรุปจากสมุดที่จดได้คร่าวๆ ดังนี้ครับ
– การวิเคราะห์ข้อมูล ให้เขียนตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย เช่น มี 3 ข้อ ให้เขียน 3 ข้อ
– ควรมีการทดสอบ Hoteling T square ด้วย เพราะเป็นสถิติหนึ่งที่น่าสนใจ
– การวิเคราะห์ข้อสอบแบบอิงเกณฑ์ (แบบทดสอบ) กับการวัดทักษะ (อิงกลุ่ม) ใช้คนละสูตรกัน
– IOC ไม่ได้มีได้หลากหลายค่า หากผู้เชี่ยวชาญ 3 คนจะมีค่า IOC แตกต่างกันอยู่ 3 ค่า
– การตั้งชื่อเรื่องวิจัย มักปรากฏตัวแปรตามมาก่อน
– p-value มีชื่อภาษาไทยว่า ระดับนัยสำคัญ
– ควรใส่คะแนนดิบลงไปด้วยในงานวิจัย
– เวลาอธิบายตาราง ควรอธิบายเป็นเชิงคุณภาพ อธิบายภาษาคน ไม่ใช่ภาษาทางสถิติ
– ตารางแรกของบทที่ 4 ควรใส่ผล Test Normality ของข้อมูล แล้วโชว์ไปเลยว่าเป็นการแจกแจงแบบปกติ
– ประชากร เช่น นักเรียน ม.5 ของสหวิทยาเขตน้ำพอง กระนวน
– การวิจัยในชั้นเรียน ควรเน้นการพัฒนาผู้เรียน ไม่ควรเน้นพัฒนาเครื่องมือหรือชุดฝึก และจำเป็นจะต้องมีนวัตกรรมมาแก้ปัญหาด้วย
– นวัตกรรม อาจเป็นวิธีสอน หรือ สื่อก็ได้
– การเขียนภูมิหลัง อาจแบ่งเป็น 3 ย่อหน้า ปัญหาปัจจุบันคืออะไร มีปัญหาอย่างไร แล้วจะใช้อะไรแก้ไข มีอะไรมารองรับ
– ความเหมาะสมของแผนโดยผู้เชี่ยวชาญ ทำ IOC มีสายตรง 3 คน และคือ ครู คศ.3 อายุงาน 10 ปี หรือ ป.โท และผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยและประเมินผลอีก 2 คน
– ประเมิน IOC ต้องประเมินทีละแผน แล้วหาค่าเฉลี่ยรวม
– คศ3. ควรวัด ทั้งผลสัมฤทธิ์ และวัดทักษะด้วย
รายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ผมก็จดเอาไม่ทัน เพราะอาจารย์อธิบายเร็วมาก เป็นวันแรกกว่าจะพิธีเปิดก็ล่าช้าพอสมควร วันแรกนั้น นอกจากจะมีวิทยากร เป็นอาจารย์ปิยะธิดาแล้ว ยังได้รับเกีียรติจาก คณบดีอีกด้วย ท่านเป็นคนอารมณ์ดี ช่วยเสริมเรื่องการเก็บตัวอย่าง โดยใช้เทคนิคการเล่าเป็นเรื่องเล่า แต่แฝงด้วยข้อคิด และแนวคิด เช่น ประชากร คือ อะไร แล้วท่านก็เล่าเป็นเรื่องเล่าของตนเอง ให้ฟังได้สนุกสนานมาก ข้อคิดที่ได้จากคณบดี ทั้งตอนท่านบรรยายตอนเปิดงาน คือ ท่านฝากไว้ว่า คำขวัญง่ายๆ คำว่า “คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น” ยังเป็นคำขวัญที่ใช้การได้ตลอดเวลา เราควรสอนให้เด็กเป็นอย่างนั้นจริงๆ และท่านฝากไว้ว่า “สุขภาพร่างกายเป็นเรื่องสำคัญ” และสุดท้าย “ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ”
สิ่งที่ประทับใจวันแรกคงจะเป็นเรื่องการการทำวิจัยในชั้นเรียน ซึ่งเราในฐานะที่จะเป็นครูมืออาชีพในอนาคต เราต้องทำวิจัยให้เป็น รู้จักใช้เครื่องมือให้เป็นเพื่อวัดผลออกมาให้ได้จริงๆ แล้วนำไปพัฒนานักเรียนให้สำเร็จ
วันที่ 6 มิถุนายน 2561
วันนี้เป็นวันที่สองของการอบรม ในหัวข้อ ภาวะผู้นำวิชาการ
วิทยากรเป็นรองคณบดี เป็นผู้หญิงที่สง่างาม แต่งตัวดูดี มีบุคลิกภาพดี ท่านอธิบายเกี่ยวกับความเป็นผู้นำ โดยให้ช่วยกันระดมความคิด บทบาทของผู้นำทางวิชาการ
ผู้นำ คือ ผู้ที่มีความสามารถหรือความรู้และเป็นต้นแบบให้คนอื่นทำดีต่อสังคม โดยงานหลักๆ คือการทำแผนภาพความคิดแล้วออกไปนำเสนอเป็นฟลิปชาร์ต
สิ่งที่ประทับใจ วันนี้คือ อาจารย์แต่งตัวดีและบุคลิกดี การพูดสุภาพ และอธิบายได้ดี มีการซักถามให้โอกาสนักเรียนได้ถามตอบตลอดเวลา
ช่วงบ่าย เป็นอาจารย์ที่บุคลิกจะออกตลกๆ หน่อย แต่เปี่ยมไปด้วยปัญญา แกบอกว่าพานักศึกษาไปนำเสนองานต่างประเทศ แกไม่ใส่ชุดสูทไป แต่ใส่เสื้อผ้าไหมไป ก็ไม่เห็นจะแคร์อะไร ไม่ต้องไปทำตามฝรั่งมากก็ได้ เราควรเป็นตัวของตัวเองบ้าง แนวคิดนี้ก็เข้าท่าดีครับ
และท่านได้ให้ออกแบบนวัตกรรมของตนเอง ผมได้ออกไปนำเสนอนวัตกรรมหนึ่งที่ชื่อว่า plicker ด้วย เป็นคล้ายๆ สื่อที่ผมนำไปทดลองใช้แล้วได้ผลดีมากเลยกับเด็กๆ
วันที่ 7 มิถุนายน 2561
วันนี้เป็นผู้ชายสองคน ท่านช่วยกันเลยทั้งวัน เรื่องที่อบรมในวันนี้คือ เทคนิคการออกแบบการจัดการเรียนรู้ ท่านอธิบายตั้งแต่เรื่องของหลักสูตรแกนกลาง ว่าต้องมาทำอะไรบ้างเพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำหน่วยการเรียนรู้และแผนการจัดการเรียนรู้ต่อไป
แผนการจัดการเรียนรู้ อาจไม่จำเป็นต้องทำ backward design ก็ได้ แต่ส่วนประกอบหลักๆ ของแผนส่วนใหญ่ก็จะคล้ายกัน การออกแบบแผนก็จะเป็น 1.กำหนดเป้าหมาย 2.กำหนดหลักฐานที่เป็นผลการเรียนรู้ และ 3.ออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้
ทั้งสองท่านก็อธิบายดี แต่มีคนหนึ่งอาจจะอธิบายเร็วเกินไปหน่อย และเนื้อหาค่อนข้างลึกมากๆ เลย ทำให้ผมตามไม่ค่อยทันนะ
มีสิ่งที่ผมประทับใจ คือ เรื่อง ของการเขียน Mind Map และ ผังมโนทัศน์ที่ให้เข้าใจมากขึ้นว่า Mind Map จะเป็นคิดใหญ่ไว้อยู่ตรงกลาง แล้วค่อยๆ แตกหัวข้อออกไปให้เท่าๆ กัน ด้วยเส้นหรือรูปร่างเดียวกัน ก็จะเป็นหัวข้อระดับเดียวกัน ส่วนผังมโนทัศน์ คือ แนวคิดที่แตกหัวข้อออกไปเรื่อยๆ แล้วโยงสัมพันธ์กัน
วันที่ 8 มิถุนายน 2561
วันนี้เป็นท่านอาจารย์อารมณ์ดี และรู้เรื่องเกี่ยวกับประวัติเมืองต่างๆ ท่านชอบแต่งกลอน เลยต้องสอบให้นักเรียนแต่งกลอน 8 เรื่อง จรรยาบรรณครู แต่วันนี้จะต้องไปรับวุฒิบัตร เลยต้องรีบหน่อย อาจารย์ต้องกระชับเวลามากขึ้นด้วย ทำให้รีบสอนมาก แต่ได้อ่านบทประพันธ์ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ก็ทำให้รู้สึกถึงจิตวิญญาณของครูขึ้นมาเลยทีเดียวเชียว
ช่วงบ่ายเป็นอาจารย์สุดเท่ห์เลย สมาร์ทมากๆ เริ่มจากการให้ร้องเพลงบุญผลา เพราะว่าเรามาเจอกันคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และร้องเพลงบุพเพสันนิวาส ท่านให้ดูคลิปเกี่ยวกับความเป็นครู 4 คลิป แล้วช่วยกันสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้ออกมาให้กันฟัง เป็นวิธีสอนที่ดีเลยละ เพราะทุกคนจะตั้งใจฟัง เพื่อนำมาเล่าให้กันฟังอีกรอบ
และสุดท้ายท่านฝากถึงหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ท่านทดลองทำเองกับมือ การการเป็นเกษตรกรเองและทำเองทุกขั้นตอน
ท่านมีจุดเปลี่ยนจากเพจแห่งหนึ่ง เขียนข้อความไว้ว่า
อิสรภาพทางการเงิน คือ การไม่ใช้เงินหรือใช้เงินให้น้อยที่สุด
ท่านจึงคิดได้ว่า หากเราปลูกทุกอย่างไว้กินเอง มันไม่จำเป็นต้องไปซื้อคนอื่น ก็ไม่ต้องใช้เงิน เราแบ่งปลูกหลายๆส่วน หลายๆแบบ เราก็หมุนกินไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ที่ไร้สารพิษต่างๆ
ถือเป็นแนวคิดใหม่ที่กระแทกใจผมมาก ผมเป็นคนรักต้นไม้มากเป็นทุนเดิม แต่ผมไม่มีที่ดินที่จะปลูก แม้แต่ผักสวนครัวก็ไม่มีที่จะปลูกเพราะที่ทาวเฮาส์ไม่มีบริเวณที่ดินเลย ผมเลยปลูกไว้บนระเบียงซึ่งมันรับแสงไม่ได้เต็มที่ ปลูกไปก็ตายไป เหลือแค่ไม่กี่อย่าง
วันสุดท้ายแล้ว ทุกคนก็คงตั้งหน้าตั้งตารอจะกลับบ้านกันแล้วสินะ เราใช้เวลาหลังสอบ Posttest แป็บเดียว จากนั้นไปรับเกียรติบัตร 270 คน รับทีละคน โดยคนมอบเป็นท่านรองคณบดี ที่เป็นอาจารย์สอนในคลาสวันที่ 6 นั่นเองครับ
สมาชิกของกลุ่ม 2 มีดังนี้ น้องเจ้า พี่ตั้ม พี่ร็อค พี่อ้อย พี่จุ๋ม พี่จ๋า พี่ปิ๋ม พี่ส้ม และผม มี 9 คนครับ พวกเราช่วยเหลือกันดีในกลุ่ม และถือว่าเป็นบุญผลาที่นำพาเราได้มาเจอกันครับ
Discover more from KruJakkrapong 's Blog
Subscribe to get the latest posts sent to your email.
Good job!!!สุดยอด น้องชายทั้งเก่งทั้งนิสัยน่ารัก!
555 ขอบคุณครับพี่ส้ม หวังว่าเราจะได้เจอกันอีกนะครับ ถ้ามีโอกาส
เยี่ยมมากคุณครูคนเก่ง