บทความนี้ถูกเขียนขึ้นวันที่ 29.02.63 เป็นปีอธิกสุรธิน คือ 4 ปี มีวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ครั้งหนึ่ง จึงเป็นความพิเศษกว่าทุกๆ วันจากวันที่
อีกความพิเศษหนึ่งคือ เป็นวันเสาร์ ที่ผมกลับมาบ้านนาแต้ อำเภอคำตากล้า เพื่อมาอยู่กับลูก
ณ ตอนนี้ลูกนอนอยู่ในเปล ภรรยาผมไกวเปลลูกอยู่ทำให้ผมมีเวลาว่างจะเขียนบทความนี้ขึ้นมา
และอีกความพิเศษหนึ่งคือ ที่บ้านผมยังไม่ติดเน็ต เชื่อมต่อจากมือถือเข้าคอมก็ลำบากมาก ติดๆ ดับๆ อยู่นั่นแหละ อย่างช่วงเมื่อคืนผมยังทำงานได้บางครั้ง แต่เช้านี้พยายามเชื่อมต่อเน็ตแต่กำลังบากมาก ทำให้ผมตัดสินใจเขียนบทความนี้ใน notepad ก่อนที่จะอัพตอนเชื่อมต่อเน็ตอีกทีซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อไร
ตอนนี้ผมนั่งเขียนอยู่ระเบียงหน้าบ้านตัวเอง อากาศเย็นดีมากๆ มีเสียงรถแล่นผ่านในบางช่วงนานๆที เสียงไก่ก็แว่วมาขันบ้างเป็นบางครั้ง เสียงเลื่อยไม้ของการก่อสร้างตึกที่ห่างออกไป แต่ยังไงเสียก็ไม่ได้รบกวนโสตประสาทผมแต่อย่างใด
วันนี้ผมอยากจะเขียนบทความหนึ่งเกี่ยวกับทักษะบางอย่างที่เกิดขึ้นไม่นานของผมเอง คือ การดราฟภาพจาก jpg เป็น ai
ผมไม่ได้ชำนาญทักษะนี้มากขนาดมืออาชีพ แต่ก็ไม่ขี้ริ้วขี้เหร่ขนาดทำไม่เป็น แต่ถือว่าเป็นทักษะที่ผมได้มาเพราะการทำงานเสริมบางอย่างให้ลูกค้า
งานเสริมที่ว่าคือเกี่ยวข้องกับโลโก้ ที่ต้องทำเป็นไฟล์ ai เพื่อเอาไปเลเซอร์ใส่แฟลชไดร์ฟให้ลูกค้า
ผมพอทำ illustrator เป็นบ้าง แต่ photoshop จะชำนาญมากกว่า
เมื่อคืนลูกค้าคนหนึ่งส่งไลน์มาสอบถามว่าจะทำไฟล์ ai คิดเท่าไร แล้วก็ส่งโลโก้เป็นไฟล์ jpg มา
ผมดูคร่าวๆ แล้วก็คิดว่าไม่ยากอะไร เข้า illustrator แล้วก็ image trace ก็น่าจะได้แล้ว ก็เลยตอบไปว่า 150 บาท
สักพักผมก็เริ่มเชื่อมต่อไลน์เข้ากับคอม แล้วดาวน์โหลดไฟล์ออกมา เพื่อจะเข้า illustrator
เมื่อทำการ image trace เสร็จก็พบว่า ขอบยังไม่ค่อยเนียนเท่าไร ผมก็เลยวาดขอบโลโก้ให้ใหม่ ขอบเป็นลักษณะรูปเหมือนโล่สำหรับป้องกันดาบในหนังนักรบสมัยก่อน เป็นขอบสีเหลือง ผมก็ใช้เครื่องมือคล้ายปากกาสปีดบอล น่าจะเรียกว่า “pen tool” ลากอยู่หลายครั้งเพราะความไม่ชำนาญก็เลยทำประมาณ 2 รอบ
จากนั้นมาดูตัวหนังสือที่ถูก image trace ก็พบว่ามันยังดูเบลอๆ เลยอยากจะทำใหม่โดยค่อยลบตรงตัวหนังสือก็พบว่าภาพที่ image trace มันลบยากเพราะมันแยกส่วนออกเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ หมดแล้ว ก็เลยก็อปปี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมโดยดูดสีเดียวกันกับข้างๆ แล้วแปะทับเอาไว้ เหมือนเอาแผ่นสีไปแปะทับตัวหนังสือนั้น
จากนั้นก็พิมพ์ตัวอักษรใหม่ ยากตรงที่ว่าต้องการตัวอักษรที่คล้ายกับอันเดิม เลือกอยู่นานค่อยๆ เลื่อนไปเรื่อยๆ ว่าอันไหนมันจะคล้ายมากที่สุด จนเป็นที่พอใจ
เมื่อเสร็จแล้วก็ทำการเชื่อมต่อเน็ตอีกครั้งกับคอมเพื่อส่งอีเมลไปให้ลูกค้า
ลูกค้าต้องการแก้ไขขอบของตัวอักษรที่ทำใหม่ให้มีสีดำ เพราะอันเดิมมันไม่มีขอบทำให้ไม่ค่อยโดดเด่นเท่าไร
ผมพยายามหาขอบมาใส่ ค้น google ดูวิธีการใส่ขอบตัวอักษร พอใส่แล้วตัวฟอนต์ของผมมันก็เพี้ยนปรับแก้เท่าไรก็ไม่เป็นขอบดำ อาจจะเป็นเพราะเลือกฟอนต์มาผิดทำให้ใส่ขอบยาก ก็เลยต้องเลือกฟอนต์ใหม่ แต่ก็ไม่พอใจกับฟอนต์ไหนเลย
ผมตัดสินใจ เปิด photoshop พิมพ์ฟอนต์เดิมนี้แล้วใส่ขอบเพราะใน photoshop ผมจะชำนาญกว่าเรื่องการใส่ขอบ
จากนั้นผมก็ลากฟอนต์นี้ไปใส่ใน illustrator ทำการ image tracing แต่ก็พบว่ามันมีขอบสีขาวๆ ติดมา
พยายามหาวิธีลบขอบสีขาวนี้ให้ได้ ใช้เวลานานมาก ค้นใน google ก็พบทางออกว่าต้องเป็น ctrl+shift+f9 เปิด pathfinder แล้วเลือกจนกระทั่งมันติดส่วนสีขาวออกได้
ได้ฟอนต์ที่ต้องการแล้ว มีขอบสีดำแล้ว ก็ส่งให้ลูกค้าดู
ลูกค้าพอใจอย่างมาก ตอบตกลง แล้วโอนเงินมา 150 บาท
ผมเขียนบทความนี้ขึ้นทำไม และก็อธิบายวิธีละเอียดขนาดนี้ทำไม
ผมอยากจะเขียนเพื่อบอกว่า ทักษะที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ เวลาที่ใช้ทั้งหมด เพื่อแลกกับเงิน 150 บาท มันไม่มีทางคุ้มหรอกครับ แต่ทำไม่ผมยังทำ เพราะผมคิดว่าทักษะเหล่านี้มันจะช่วยทำให้ผมทำงานง่ายขึ้นในครั้งถัดไปนั่นเอง
มันเป็นการลงทุนในตัวเอง พาตัวเองให้พยายามทำบางอย่างให้สำเร็จ โดยมีเงินเป็นตัวล่อ และภาระที่เรารับปาก
จริงๆ แล้วไม่ใช่ครั้งแรก ถ้าเป็นครั้งผมต้องพยายามมากกว่านี้ และคงใช้เวลามากกว่านี้ แต่เงินที่ได้อาจจะน้อยกว่านี้เพราะความชำนาญเรายังไม่มี เราจึงไม่กล้ารับปากในราคงที่สูงขึ้น
ผมเชื่อว่า ถ้ามีความชำนาญมากๆ อาจจะใช้เวลาทำโลโก้นี้ไม่กี่นาทีก็เสร็จ แต่ผมอยาจจะชำนาญไม่มากจึงต้องใช้ความพยายามหน่อย และใช้เวลามากหน่อย
แต่ถ้าผมทำงานเสร็จเสร็จ งานหน้าผมอาจจะใช้เวลาน้อยกว่านี้ และคิดราคาแพงกว่านี้ก็เป็นได้ครับ
ลงทุนในความรู้ ตอนนี้จะได้ผลตอบแทนเท่าไหร่ไม่สำคัญ แต่สำคัญตรงที่ว่าทักษะที่เราได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับเราในอนาคต ถือว่าการลงทุนนั้น คุ้มค่า
Discover more from KruJakkrapong 's Blog
Subscribe to get the latest posts sent to your email.