จ่อหัวมาคงรู้นะว่าผมทำอาชีพอะไร? อาชีพที่ได้รับผลกระทบไปตามๆ กันคืออาชีพ “ครูผู้สอน” ที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยครับ
เปิดเทอมใหม่ หัวใจว้าวุ่น ปีนี้ไม่เหมือนเดิมแล้วครับ เราต้องปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนไปบนระบบออนไลน์ จะถือว่าเป็นช่วงทดลองสอน จาก 18 พค 63 ถึง 30 มิถุนายน 63 และจะเปิดเทอมแบบเจอหน้าเด็กกันจริงๆ ก็ 1 กค 63 ตามคำสั่งทั่วประเทศครับ
คุณครูทั้งประเทศ ก็ถือได้ว่ามีจำนวนนับแสนเหมือนกันที่ต้องทำ WFH กับเขาด้วยแล้วนะ นั่งหน้าจอคอม เตรียมสื่อออนไลน์ สร้างห้องเรียนออนไลน์ ตามล่าหาชื่อนักเรียนตามเฟส หรือค้นหากิจกรรม ใบงานต่างๆ เพื่อให้ลูกๆ ได้เรียนกัน
โรงเรียนของผม แก่นนครวิทยาลัย ถือว่าเป็นโรงเรียนที่ค่อนข้างพร้อมสำหรับการเรียนการสอนออนไลน์พอสมควร นโยบายผู้บริหารส่งตรงลงมาถึงครูว่า ให้พยายามทำให้เต็มที่เพื่อลูกๆ ของเรา และพยายามอย่ากดดันทั้งตัวเองและลูกๆ ให้มากนัก แต่ก็ให้ทำเต็มความสามารถ
จึงเกิดทีมงานกลุ่มย่อยๆ ขึ้นมาเพื่อภารกิจนี้โดยเฉพาะ นั่นคือ ทีม E-Learning KNW เพื่อช่วยคณะครูได้จัดทำเนื้อหาในการสอนออนไลน์ครั้งนี้
Google Classroom ถือกำเนิดขึ้นมานานแล้วครับ เขาพยายามสอนให้ทำกัน แต่เราไม่ค่อยยอม จะจับปากกาเขียนไวท์บอร์ดอย่างเดียว แต่ยุคนี้ Google Classroom มาเป็นพระเอกเลยละ เราต้องใช้มันแล้วนะ
การที่จะให้คุณครูทุกๆคน มานั่งเรียนการทำสื่อออนไลน์นั้นเป็นภารกิจอันหนักหน่วง ด้วยว่า คุณครูมีหลาย Generation ตั้งแต่ A-Z ความแตกต่างระหว่างบุคคลของคุณครูจึงเกิดขึ้น ตั้งแต่จับเมาท์ไปไม่ถนัด ลากเส้นตรงไม่ได้ ไม่รู้จักนามสกุลไฟล์ และอื่นๆ อีกจิปาถะ
ทีมไอซีทีเล็งเห็นว่า มีคลิปใน youtube หลายอันมีประโยชน์และเข้าใจง่ายๆ ทำตามได้ จึงจัดสื่อเหล่านั้นมัดไว้รวมกัน แล้วให้ศึกษา จากนั้นส่งทีมย่อยๆ ลงกลุ่มสาระให้ไปดูแลอย่างใกล้ชิด แต่รักษาระยะห่าง Distacing พอควร ใส่หน้ากากป้องกันตลอด
ผลปรากฎว่าได้ผลเกินคาด Google Classroom เกิดขึ้น ในห้องเรียนออนไลน์มีนักเรียนเข้ามาเรียน มีปฏิสัมพันธ์ มี meeting ผ่าน Google meet เช็คชื่อออนไลน์ ทำกิจกรรมออนไลน์ กลายเป็น New Normal ไปซะอย่างงั้น
กลุ่มสาระคณิต (ผมเอง) เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มี Baby Boomer อยู่เยอะพอสมควร ผมเองก็เป็นหนึ่งในทีมที่อยากจะขับเคลื่อนการสอนออนไลน์นี้ไปด้วยกัน จึงพยายามเต็มที่
ถึงพยายามแค่ไหน ถ้ายังไม่เปิดใจรับก็เหมือนเดิม แต่ยังโชคดีที่หลายคนเป็น Gen X และ Gen Y สามารถทำเองได้โดยไม่ต้องเรียนรู้การจับเมาส์มากนัก
ถึงกระนั้นผมก็ดีใจ หลายท่านถึงมาจะอายุมากแล้ว แต่มีความพยายามเรียนรู้ แบบค่อยเป็นค่อยไป ทำได้เท่าที่ทำ อย่างน้อยล็อกอินเข้าระบบสำเร็จ ไม่ลืมพาสเวิดนี่ก็ถือเป็นทักษะหนึ่งแล้ว
ตอนนี้ผมมีห้องเรียนออนไลน์อยู่หลายห้อง สั่งงานทีละหลายห้องนี่มันก็สะดวกดี ตรวจงานก็สะดวก ให้คะแนนก็สะดวก ใครทำ ใครไม่ยอมทำ ใครส่งช้ามันมีหลักฐานไปหมด
คะแนนก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่อาจจะทำให้เกิดความกังวลได้ว่า ควรจะเก็บดีมั้ย สำหรับผมนะ ผมเก็บแต่ไม่กด หมายความว่า ก็ให้ๆ ไปละ อย่างน้อยเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนทำ แต่ก็ต้องบอกนักเรียนก่อนว่า ไม่ต้องกังวลนะ เรื่องคะแนน ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เราคุยกันได้
คะแนนจึงจะต้องมีสองส่วน คือ ออนไลน์ และออฟไลน์ควบคู่กันไป ใครไม่พร้อมก็เอาออฟไลน์ตอนเปิดเทอมไป อย่างนี้ดีมั้ย
ตอนนี้ก็นั่งๆ ทำสื่อการเรียน เตรียมสอนออนไลน์ครับ เขามีสื่อดีๆ มากมายเน็ต ไหนจะ DLTV ที่มีครบ จบในที่เดียวแล้ว สำหรับผมเน้นเรื่อง กิจกรรมสนุก สอดแทรกไป เช่น การระบายสี การทำ quiz เบาๆ สมอง อะไรพวกนี้สอดแทรกกับเนื้อหาที่ไม่ได้เน้นหนักอะไร
อย่างไรก็ตาม New Normal ครั้งนี้ก็ยังมีอะไรให้ลองทำอีกเยอะ มีอะไรสนุกๆ อีกเยอะซ่อนอยู่ อยู่ที่ว่าเราจะค้นหาว่าอยู่ตรงไหน แค่นั้นเอง
ขอให้มีความสุขสำหรับ การเรียนออนไลน์ในยุค Covid19 ครับผม 😀
Discover more from KruJakkrapong 's Blog
Subscribe to get the latest posts sent to your email.