การใช้งาน zipgrade ครั้งนี้ เป็นการใช้โปรแกรมตรวจคะแนนนักเรียนจากการฝนวงกลมกับข้อสอบแบบปรนัยนะครับ เป็นอะไรที่อาจลำบากสักหน่อย แต่ผมเชื่อว่า มันจะช่วยเซฟเวลาจำนวนมากหากทำเป็นแล้ว แต่เราอาจจะต้องเสียเวลาเรียนรู้เจ้าโปรแกรม Zipgrade กันสักหน่อยนะครับ
โปรแกรม Zipgrade คืออะไร
โปรแกรม Zipgrade มันคือแอปปลิเคชันตัวหนึ่งบนมือถือหรือไอแพด มันสามารถใช้แสกนตรวจกระดาษคำตอบประเภทปรนัยของนักเรียนได้ เวลาแสกนก็ง่ายนิดเดียวเปิดแอปแล้ววางมือถือเหนือกระดาษคำตอบ จะได้ยินเสียงดับ “แกร็บ” แสดงว่าเสร็จแล้ว จากนั้นก็จะโชว์คะแนนออกมาให้รู้ว่าคนนี้ได้เท่าไร
จริงๆ แล้ว Zipgrade มันสามารถแสกนไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องหยุดก็ได้ โดยคะแนนของเราจะเข้าไปเก็บในฐานข้อมูลโดยกรณีนี้นักเรียนจำเป็นต้องฝนรหัสนักเรียนเข้าไปด้วยเพื่อระบุตัวตนว่าเขาชื่ออะไร เมื่อเราแสกนเสร็จก็ export ไฟล์ excel ออกมาเป็นคะแนนได้เลย
แต่ข้อเสียที่ผมเจอคือ นักเรียนฝนรหัสตัวเองผิดหรือสลับ เพราะรูปแบบการฝนรหัส กระดาษคำตอบของ zipgrade มันเอาเลข 0 ไว้สุดท้าย ทำให้นักเรียนบางคนสับสนเพราะ 0 มันต้องอยู่ตัวแรก ทำให้เวลาเราแสกนจนครบแล้วมันสลับคนกันและเกิดปัญหาคะแนนไม่ตรงคน ผมจึงแนะนำว่า ไม่จำเป็นต้องใช้ออฟชันสูงสุดนี้ก็ได้ครับ
เมื่อไม่ใช้ออฟชันสูงสุด นักเรียนก็ไม่จำเป็นต้องฝนรหัสตัวเอง เพียงแค่เขียนชื่อบนกระดาษคำตอบ แล้วเวลาเราแสกนก็เขียนคะแนนกำกับเป็นรายคนไป แบบนี้สะดวกกว่าครับ
แต่ถ้าใครอยากจะลองดูหรือทำความเข้าใจ Zipgrade ให้มากยิ่งขึ้นก็ดูจากคลิปนี้ครับ อาจารย์เขาอธิบายละเอียดมากๆ
ในคลิปจะแบ่งออกเป็นตอนๆ เลย มีตอนที่สำคัญคือการอัพโหลดรายชื่อนักเรียนที่เป็นภาษาไทย ซึ่งจะมีประโยชน์มากๆ เพราะถ้าอัพเข้าไปโดยตรงภาษามันจะเพี้ยนทันที แก้ไขโดยการอัพเป็น google sheet เข้าไปก่อนแล้วไปเปิดในนั้น มีวิธีสอนในคลิปลองไปดูกันเอาเองนะครับ
ประสบการณ์การใช้งาน Zipgrade และปัญหาที่เกิด
คราวนี้มาถึงประสบการณ์การใช้งานของของผมบ้าง ครั้งนี้ผมอยากทำ advance มากขึ้น โดยการตรวจคะแนนจากข้อสอบหลายเวอร์ชัน ทำเป็นเวอร์ชัน A, B และ C ทั้งหมด 3 เวอร์ชันเลยทีเดียว
เมื่ออยากจะทำแบบแอดวานซ์ ก็เลยเจอประสบการณ์แย่ๆ ที่ต้องแก้กันสักหน่อย ละครับ
ผมดาวน์โหลดกระดาษคำตอบเป็นชนิด 50 คำตอบจากเว็บไซต์ zipgrade ไปแล้วปรับใน photoshop เพิ่ม ก ข ค ง เข้าไป แล้วติดกระดาษคำตอบเข้าไปในชุดข้อสอบหน้าสุดท้าย ทำเป็น 3 ชุดแยกกันไปโรเนียว
จากนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่โรเนียวเสร็จแล้วก็นำมาเย็บและนับ โดยหน้าสุดท้ายผมจะใส่โค้ดลับเอาไว้สักที่หนึ่งเพื่อบอกว่านี่เป็นเวอร์ชัน A, B หรือ C เด็กจะไม่รู้ว่ากำลังทำเวอร์ชันไหน ถ้าลอกกันมาแบบข้อต่อข้อ มีโอกาสผิดหลายข้อเพราะข้อสอบเป็นคู่ขนาด แต่อาจจะเปลี่ยนแค่ตัวเลขเท่านั้น
ปัญหามันเกิดตรงนี้ละครับจุดที่หนึ่ง คือ กระดาษคำตอบหน้าสุดท้ายที่โรเนียวมา วงกลมมันจางๆ ทำให้คาดเดาได้ยาก ว่าวงกลมจะต้องวงตรงไหน จะเห็นตามภาพด้านล่างครับ
ด้านซ้ายเป็นการโรเนียวครั้งแรก และด้านขวาเป็นการโรเนียวครั้งที่สองหลังจากที่แก้แล้ว
ปัญหาถัดไป คือ ช่องรหัสประจำตัวนักเรียน นักเรียนจะคิดว่าเป็น ข้อ 1-2-3 จึงทำโดยไม่ได้ฝนรหัสประจำตัว แต่ฝนเป็นตัวเลือก บางคนก็ลบออกแล้วทำใหม่ บางคนก็ทำไปเลย แถมยังทำเลยไปข้อ 11 แบบหน้าตาเฉย โดยไม่รู้ว่า ข้อ 1-10 มันอยู่ด้านล่าง
ผมจึงได้มาแก้ไขให้แต่ละคน โดยยกคำตอบชุดบนลงมาด้านล่าง ใช้ลิควิดลบแล้วฝนเลขประจำตัวให้ใหม่ แถมยังมีชุดกระดาษคำตอบที่โรเนียวแล้วไม่ค่อยชัดเท่าไร ทำให้เด็กลำบากในการฝนอยู่พอสมควร
ในการตรวจสำหรับข้อสอบแตกต่างกันหลายชุดนั้น เราจะต้องเป็นคนมาฝน KEY เวอร์ชันไว้ให้กับข้อสอบด้วยว่า เราจะใช้คีย์เวอร์ชันไหน โดยการฝนด้านข้างๆ ของเลขประจำตัวนั่นเอง เมื่อฝนเสร็จแล้วเราก็นำไปแสกนตรวจผ่านมือถือได้เลย แต่เราต้องเข้าไปเซตค่าคำตอบแต่ละ KEY เวอร์ชันผ่านมือถือให้เรียบร้อยก่อนนะครับ เราสามารถทำได้สูงสุด 5 เวอร์ชันใน 1 ชุดเลยทีเดียว
ใช้ Zipgrade เสียเงินเท่าไร และใช้หลายคนได้มั้ย
สำหรับ 100 answer sheet แรกจะแสกนฟรี หากเกินกว่านี้ เราต้องเสียเงินปีละ ประมาณ 229 บาท แต่ก็คุ้มค่าครับ วันนี้ผมแสกนไป 13 ห้องเรียน รวมแล้วก็ 600 กว่าคน เลยทีเดียว ที่สำคัญ บางโรงเรียนซื้อ license เดียวแต่แจกอีเมลสำหรับล็อกอินได้หลายๆคนเลยครับ มันสามารถแสกนพร้อมๆ กันหลายเครื่องครับ ยกเว้นว่าเวอร์ชันใหม่ๆ เขาอาจรู้ไต๋แล้วก็อาจจะปิดตรงนี้เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ครับ ตอนนี้เราแอบใช้หลายคนได้
ตรวจ zipgrade แล้ว export ไฟล์เป็นภาษาต่างดาว
เมื่อตรวจเสร็จแล้วครบแล้ว เวลาจะเอาออกมาก็ส่งผ่านมือถือเข้าเมลได้เลย หรือจะเอาเข้า google drive หรือ drop box ก็ยังได้ ผมจะเลือกเอาคะแนนออกมาเป็น ไฟล์ csv แน่นอนว่าเปิดกับ excel แล้วมันจะเพี้ยนภาษาต่างดาวทันที เพราะชื่อนักเรียนที่อัพเป็นภาษาไทย ดังนั้นวิธีแก้คือ การไปเปิดไฟล์นี้ใน google sheet แล้วก็อปปี้รายการทั้งหมดมาทำใน excel ในเครื่องอีกที ถ้าไม่อยากเข้า Google Sheet ก็มีวิธีแก้ปัญหาอีกวิธีคือ เปิดไฟล์เปล่าๆขึ้นมาก่อน ไปที่ data > นำเข้าข้อความ/CSV > เลือกไฟล์ csv > หารูปแบบที่เป็น UTF-8
นี่เป็นประสบการณ์ในครั้งแรกของการตรวจข้อสอบผ่าน apps ที่เรียกว่า zipgrade แน่นอนว่า เราต้องเสียเวลาเรียนรู้สักหน่อย เกี่ยวกับวิธีการอัพโหลด และดาวน์โหลดไฟล์ csv และเสียสตังค์อีกเล็กน้อยในการ subscription แต่ก็คุ้มกับเวลาที่ต้องมานั่งตรวจแบบเจาะรูเหมือนแต่ก่อนครับ เราจะได้มีเวลาไปทำอย่างอื่นอีก
ข้อควรระวังอีกประการ คือ จุดดำ 6 จุดที่อยู่รอบกระดาษคำตอบ ห้ามขีดเขียนสิ่งใดทับจุดสี่เหลี่ยมสีดำนั้นเด็ดขาด เพราะมันจะไม่ยอมแสกนให้
สรุป : Zipgrade คือโปรแกรมช่วยให้ครูตรวจข้อสอบปรนัยได้เร็วขึ้น ถ้าไม่ต้องการแบบออฟชันเต็มๆ เราก็สามารถตรวจและให้คะแนนทีละคนได้รวดเร็วเช่นกันครับ โดยเลือก answer sheet แบบ 20 ข้อ เพื่อตรวจทีละคนและเขียนคะแนนกำกับในกระดาษคำตอบ แต่ถ้าใครต้องการ advance ก็สามารถเลือก answer sheet แบบ 100 ข้อ จะมีให้ฝนรหัสนักเรียนด้วย จำเป็นต้องนำเข้าฐานข้อมูลเป็น ดูจากคลิปแล้วทำตามได้ครับ
ส่วนค่าใช้จ่ายปีละ 200 กว่าบาทถือว่าคุ้มเพราะ 1 license ตอนนี้ก็สามารถใช้ได้หลายคน โรงเรียนเล็กๆ อาจจะซื้อสัก 1 license แล้วเอามาแชร์กันก็ได้ครับ
สำหรับกระดาษคำตอบ Answer Sheet ที่เป็นเวอร์ชันภาษาไทย ผมนำมาจากเว็บไซต์ครูหน่อง สามารถคลิกดาวน์โหลดได้จากที่นี่ครับ
Discover more from KruJakkrapong 's Blog
Subscribe to get the latest posts sent to your email.