การส่ง คศ.3 เป็นการส่งงานของครู เมื่อถึงเวลาจะขอเลื่อนวิทยฐานะของครู พูดง่ายๆ คือการได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นนั่นเองครับ
ครูจะได้เงินเพิ่มขึ้นอยู่ 3 ขยักใหญ่ๆ นั่นคือ จาก คศ.1 ไป 2 จาก 2 ไปยัง 3 และจาก คศ.3 ไป คศ.4 ครับ ซึ่ง จาก 1 ไป ยัง 2 ก็ไม่ได้ทำยากอะไร มีเอกสารอยู่ไม่กี่อย่าง และไม่จำเป็นต้องมีนวัตกรรมหรือวิจัยอะไร แต่การได้ คศ.3 จำเป็น ต้องมีนวัตกรรมและวิจัยควบคู่ไปด้วย อันนี้ผมพูดถึงเกณฑ์การประเมินแบบเก่านะครับ เพราะเรากำลังจะมีการปรับเกณฑ์แบบใหม่เร็วๆ นี้
ผมอาจจะเป็นรุ่นสุดท้ายที่จะได้ประเมินแบบเก่าครับ นั่นคือ มีนวัตกรรม และวิจัย ก่อนจะมีสิทธิ์ส่ง เราต้องได้ คศ.2 มาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปีถึงจะมีสิทธิ์ส่งผลงานตรงนี้
เมื่อมีสิทธิ์ส่งแล้ว เราก็เริ่มทำผลงาน 2 ปีการศึกษา นั่นคือ การสร้างนวัตกรรมเพื่อเอาไปทดลองใช้กับเด็กๆ เก็บข้อมูลการวิจัย วิเคราะห์ผลและเขียนรายงานการวิจัย 5 บท นั่นเอง
โดยส่วนใหญ่ครูคณิตศาสตร์จะเลือกการใช้นวัตกรรมเป็นแบบฝึกควบคู่กับการสอนแบบต่างๆ เช่น ผมใช้การสอนโดยใช้ทฤษฎีคอนสตรัคติวิสท์ คือ การให้เด็กๆ จับกลุ่มกันและมีการพูดคุยช่วยกันฝึกทำแบบฝึกทักษะที่เราแจกให้เป็นเล่ม แล้วมีการอภิปรายร่วมกัน สรุปเป็นขั้นตอน
จริงๆ แล้วผมมีสิทธิ์ส่งมาเป็นปีแล้ว แต่ส่งล่าช้า เพราะมัวแต่ทำงานอย่างอื่นจนไม่มีเวลามาโฟกัสตรงนี้เท่าไหร่นัก อาจจะหนักหน่อยก็ตรงสร้างนวัตกรรมนี่แหละครับ ผมทำชุดการเรียนรู้ 10 เล่มตลอดเนื้อหา 1 บท คือ เรื่อง การวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น ชั้น ม.6 ในแต่ละเล่มก็ประกอบด้วยแบบทดสอบก่อนเรียน หลังเรียน เนื้อหา ตัวอย่าง และใบกิจกรรม ทำอย่างนี้วนๆ ไป 10 เล่ม ใช้เวลาทำนานอยู่พอสมควร แต่ก็อย่างว่าละครับ ถ้าเราไม่โฟกันซะที มันจะไม่เสร็จ เพราะมัวทำอย่างอื่นจนเพลิน บางทีก็หยุดไปนานเหมือนกัน เพราะแรงบันดาลใจมันไม่มา
จนกระทั่งเรามีเดทไลน์ใกล้เข้ามา มีคนกดดันอยู่เบื้องหลัง เพื่อนๆ เขาก็ได้กันหมดแล้ว เราจะทำไม่ได้เชียวหรือ ก็พยายามทำ แต่ผมก็ไม่ได้ทำเองหมดซะทุกอย่างบางอันก็ out source งานออกไปให้คนอื่นๆ ช่วยทำก็มีครับ
ตอนที่ผมเขียนบทความนี้ ผมแค่ยื่นส่งนะครับ ยังไม่ได้รับการตรวจและประเมินด้านอื่นๆ เลย แต่ผมมาเขียนบทความเพื่อเตือนตัวเองไว้ว่าวันนี้แหละนะที่ผมส่งงาน คศ.3 แล้วนะ
หากส่งไปแล้ว เราก็รอประเมินด้าน 1-2 จากคณะกรรมที่แต่งตั้งจากเขตพื้นที่การศึกษา มาประเมินที่โรงเรียน ผมมีหน้าที่จัดทำเอกสารรอรับการประเมิน และพรีเซ็นต์ว่าเราไปทำอะไรบ้างที่บ่งบอกว่าเราเป็นครูที่สมควรได้รับ คศ.3 ตามเกณฑ์ที่เขามีให้
ส่วนผลงาน นวัตกรรมและงานวิจัย จะถูกส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบผลงาน โดยที่เราก็ไม่รู้ว่าเป็นใครตรวจ แล้วเขาจะส่งผลมาว่า ผ่าน หรือให้แก้ไข หรือให้ตก ถ้าไม่เลวร้ายถึงขั้นไปลอกงานคนอื่นเขามาก็ไม่ตกหรอกครับ กรรมการก็จะให้เรามาแก้ไขงานแล้วส่งไปใหม่แค่นั้นเอง
บทเรียนที่ได้จากการทำงานในครั้งนี้ คือ …
อย่าผัดวันประกันพรุ่งเด็ดขาด หากจะมุ่งมั่นทำก็ทำให้สำเร็จไปซะ จะได้โล่งๆ อยากทำอะไรอย่างอื่นๆก็ค่อยคิดค่อยทำหลังจากที่เราส่งไปแล้ว ไม่งั้นจะรู้สึกว่าไม่สบายใจที่เราไม่ได้ส่งซะที
วันนี้ผมโล่งไปอีกระดับ แต่ก็รอลุ้นอีกว่า จะประเมินด้าน 1-2 วันไหน แล้วจากนั้นก็รอผลว่าจะออกหัวหรือก้อยกันอีกที
หากใครที่กำลังจะเริ่มทำ หรือกำลังท้อแท้ว่าจะทำดีไหมน้า ให้อ่านตรงนี้ครับ ถ้าคุณมีงานหนักแค่ไหนก็ตามที่กำลังทำอยู่โดยหาเหตุผลอื่นเพื่อกลบเกลื่อนว่าเราไม่มีเวลามาทำสิ่งนี้ ขอให้เลิกคิดเรื่องนี้ไปได้เลยครับ เพราะวันเวลาไม่เคยรอใคร ทุกๆ วันที่ผ่านไป คือ เงินหรือรายได้ที่กำลังไหลออกอยู่ตลอดเวลา คุณมีสิทธิ์ได้สิ่งนั้น แต่คุณไม่ทำ แสดงว่าคุณกำลังทำรายได้ที่ควรได้รับหายไปอย่างน่าเสียดาย ถ้าพร้อมแล้วก็ลุยมันเลยครับ ตอนนี้เลย…
Discover more from KruJakkrapong 's Blog
Subscribe to get the latest posts sent to your email.